วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

1.ชื่อเรื่อง (The Title)


                   ไพศาล  วรคำ (2552:38)กล่าวว่า ต้องมีความเฉาะพอที่จะให้มีความชัดเจนในสิ่งที่ทำการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว ปัญหาการวิจัยจะมีลักษณะกว้าง ๆ ในบางครั้งอาจไม่เป็นที่ยอมรับเพราะมีลักษณะกว้างมากเกินไป ผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องตั้งชื่อเรื่อง ให้ผู้อ่านซาบซึ้งถึงเนื้อหาสาระของการวิจัยให้ชัดเจน และกระชับที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                  รวีวรรณ  ชินตระกูล (2550 :22)กล่าวว่า ในการเลือกหัวข้อการวิจัยแต่ละเรื่อง นักวิจัยควรศึกษาจากเรื่องที่แคบ แต่มีความลึกซึ้งมากกว่าที่จะศึกษาหัวข้อกว้าง ๆ จับประเด็นสำคัญไม่ได้ และในที่สุดก็ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งเวลาและทุนทรัพย์ รวมทั้งอาจมีอคติต่อการวิจัยต่อไป ซึ่งได้กำหนดหลังเกณฑ์ในการตั้งหัวข้อไว้ว่า
                1. นักวิจัยควรทราบความต้องการที่แท้จริงของตนเองเสียก่อนว่ามีความสนใจในหัวข้ออะไรบ้าง
                2. ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในสาขาของตนเอง หรือมีฐานความรู้ในเรื่องที่ตนเองจะศึกษาได้ดีพอสมควร หากศึกษามาน้อยอาจทำให้เกิดข้อเสียหายในงานวิจัยได้
               3. ผู้วิจัยต้องสำรวจเสียก่อนว่าหัวข้อนั้น ๆ มีเอกสารหรือรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือป่าว ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบในการอ้างอิงได้อย่างเพียงพอหรือไม่
               4. อย่ากำหนดหัวข้อที่มีความเพ้อฝันมากเกินไป
               5. จะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแน่ชัดเสียก่อนว่าหัวข้อนั้นตรงกับเรื่องที่สนใจ ต้องเขียนรายละเอียดของขั้นตอนในการดำเนินให้ชัดเจน
               6. ผู้วิจัยควรทำการศึกษาค้นคว้าความรู้อย่างเป็นระบบก่อนว่าหัวข้อที่ตนจะศึกษา มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือไม่
               7. นักวิจัยควรมองถึงอนาคตว่าผลที่ได้จากการวิจัยเป็นเรื่องราวที่สามารถนำมาปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด
               8. ควรเป็นหัวข้อที่ทันต่อเหตุการณ์ มีคุณค่า เป็นที่สนใจของหน่วยงานต่าง ๆ
               9. ควรเป็นหัวข้อที่ก่อประโยชน์ให้แก่บุคคลสถาบัน
              10. ควรคำนึงถึงงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายที่ทำการวิจัยด้วยว่ามีงบประมาณเท่าไหร่เพื่อจะได้วางแผนดำเนินต่อไป
              11. ควรเป็นการส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาที่ผู้วิจัยศึกษาอยู่
นิภา ศรีไพโรจ(http://www.watpon.com/Elearninghtm /res19.) ได้รวบรวมไว้ว่า  ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
           1. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง หรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่อง และควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรจะสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ
           2. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ทราบว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไรได้ทันที อย่างตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายทิศทาง และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง
           3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
           3.1 การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือการศึกษาในชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการสำรวจการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการใช้สารเคมีของชาวอีสาน เป็นต้น
           3.2 การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ การตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะนี้ มักจะใช้คำว่า การศึกษา เปรียบเทียบ หรือการเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนในเขตและนอกเขตเทศบาล ของจังหวัดมหาสารคาม
           3.3 การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ การวิจัยประเภทนี้จะใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น เป็นต้น
           3.4 การวิจัยเชิงการศึกษาพัฒนาการ การวิจัยประเภทนี้มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการหรือพัฒนาการ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กก่อนวัยเรียนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
           3.5 การวิจัยเชิงทดลอง การตั้งชื่อเรื่องวิจัยประเภทนี้อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรือาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ได้ เช่น การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดอ่างทอง การวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นในปลายรากข้าวโพดหลังจากแช่ในสารละลายน้ำตาลชนิดต่าง ๆ การสังเคราะห์กรดไขมันจากอะเซติลโคเอ การศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ในยางมะละกอ การเปรียบเทียบการสอนอ่านโดยวิธีใช้ไม่ใช้การฟังประกอบ การสกัดสารอินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ฯลฯ
         4. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะของคำนาม ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ศึกษา เปรียบเทียบ สำรวจ ก็ควรใช้คำที่มีลักษณะเป็นคำนามนำหน้า เช่น การศึกษา การเปรียบเทียบ การสำรวจ ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
             ไม่ดี : ศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
             ดีขึ้น : การศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
             ไม่ดี : เปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
             ดีขึ้น : การเปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
       5. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์ คือเป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนการสอบคัดเลือกกับเกรดเฉลี่ยสะสมและเจตคติต่อวิชาชีพครูของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544  อนึ่ง นักวิจัยบางท่านก็นิยมเขียนชื่อเรื่องวิจัยสั้น ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไป เช่น บุคลิกภาพของนักศึกษาครู เป็นต้น
               สรุป  ในการเลือกหัวข้อการทำวิจัยแต่ละเรื่อง นักวิจัยควรศึกษาเนื้อหาจากเรื่องที่แคบ แต่มีความลึกซึ้งมากกว่า ผู้วิจัยจำเป็นต้องตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านซาบซึ้งถึงเนื้อหาสาระของการวิจัยได้อย่างชัดเจน กระชับ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการทำความเข้าใจ ในทำวิจัย ผู้วิจัยความทำเรื่องที่ตนเองสนใจที่จะศึกษาหรือเรื่องที่จะวิจัยต้องมีเอกสารอ้างอิงที่เพียงพอ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน หัวข้อที่ทำต้องมีความชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคตได้หรือป่าว
 อ้างอิง
นิภา ศรีไพโรจ เว็ปไซต์ http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm   เข้าถึงเมื่อ 02/12/2555 เวลา 12:23 น.
ไพศาล  วรคำ.(2552).การวิจัยทางการศึกษา.ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
รวีวรรณ  ชินะตระกูล.(2550).วิธีวิจัยการศึกษา.ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น